ก้ามปู ต้นไม้มีคุณค่าสูง
ต้นก้ามปู มีชื่อเรียกอีกหลายอย่างว่า ต้นฉำฉา หรือต้นจามจุรีแดง / จามจุรี เป็นต้นไม้ที่มีขนาใหญ่ถึงใหญ่มาก โตเร็วมาก สามารถแตกกิ่งก้านได้ไกล ใบมีขนาดเล็กและผลัดใบเก่ง มีดอกสีชมพู และมีผลและกลายเป็นฝัก ฝักสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ อายุยืนได้นับร้อยๆ ปี
ต้นก้ามปูมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Rain Tree ซึ่งมีที่มา มาจากการที่ต้นจามจุรี หรือต้นก้ามปู สามารถออกดอกได้ในฤดูฝน ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่จะไม่สามารถออกดอกได้ เพราะดอกจะร่วงเพราะโดนน้ำ
นอกเหนือจากการปลูกต้นก้ามปู เพื่อเป็นร่มเงาได้เป็นอย่างดีแล้ว เพราะมีลำต้นขนาดใหญ่ ใหญ่ได้ถึงนับสิบคนโอบเลยทีเดียว แถมแผ่กิ่งก้านได้นับสิบเมตรเลยทีเดียว ยังมีประโยชน์อีกหลายอย่างที่น่าสนใจและขอแนะนำและฝากไว้เป็นความรู้กับเพื่อนๆ ด้วยกัน
อ้อ การปลูกต้นก้ามปู ควรมีพื้นที่ว่างมากๆ เพราะความที่โต จะมีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับปลูกในปลายไร่นา หรือสวน หรือริมถนนหลวงที่มีบริเวณพื้นที่ว่างมากๆ ไม่แนะนำให้ปลูกในบ้านทั่วไป
ประโยชน์ของต้นก้ามปู
สำหรับคนที่ชอบปลูกต้นไม้ คงได้เคยได้ยินเกี่ยวกับดินก้ามปูหรือดินใบก้ามปู มาบ้างแล้ว สืบเนื่องมากจากต้นก้ามปู เป็นไม้ในตระกูลถั่ว ซึ่งจะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อพืช โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้น เราสามารถเอาใบไม้แห้งของต้นก้ามปู มาผสมดิน และสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้ทันที โดยเฉพาะกับไม้ดอกทั่วไป ผักสวนครัว หรือไม้หัวอย่างต้นชวนชม
ลำต้นของต้นก้ามปู
นอกเหนือจากใบที่สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้เป็นอย่างดีแล้ว ในส่วนของลำต้น ก็สามารถนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์จากไม้ฉำฉา) เอาไปแกะสลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล
ผลที่เป็นฝักสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะกับวัว และควาย
สรุปได้ชัดเลยว่า ต้นก้ามปู หรือ ต้นจามจุรี หรือต้นฉำฉา แล้วแต่ใครจะเรียก เป็นต้นไม้ที่สามารถพูดได้เต็มปากว่า เป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก
ต้นไม้ประจำสถานที่
จากประโยชน์มากมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว หลายๆ สถานที่สำคัญในประเทศไทย ยังมีการเอาต้นจามจุรี หรือต้นก้ามปูไปเป็นต้นไม้ประจำหรือใช้เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่ของตนเองอีกด้วย ตัวอย่างเช่น
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย
- ไม้มงคลประจำจังหวัดลำพูน
คุณทราบหรือไม่ว่า ต้นก้ามปูต้นแรกในประเทศไทยปลูกอยู่ภายในโรงเรียนอัสสัมชัญ นี่เอง
แสดงความคิดเห็น
ใส่คำแนะนำในส่วนนี้ได้เลยค่ะ